วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เกร็ดความรู้คำกริยา



คำกริยา 



      คำกริยา หมายถึง  คำแสดงอาการ  การกระทำ  หรือบอกสภาพของคำนามหรือคำสรรพนาม  เพื่อให้ได้ความ  เช่นคำว่า  กิน  เดิน  นั่ง นอน  เล่น  จับ  เขียน  อ่าน  เป็น  คือ  ถูก  คล้าย  เป็นต้น

ชนิดของคำกริยา

 คำกริยาแบ่งเป็น  ๕  ชนิด

๑.  อกรรมกริยา  คือ คำกริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับก็ได้ความสมบูรณ์  เข้าใจได้  เช่น
             
 เขา"ยืน"อยู่                    
             
น้อง"นอน"

๒.  สกรรมกริยา  คือ คำกริยาที่ต้องมีกรรมมารับ  เพราะคำกริยานี้ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง เช่น

   ฉัน "กิน"ข้าว           (ข้าวเป็นกรรมที่มารับคำว่ากิน)

   เขา"เห็น"นก           (นกเป็นกรรมที่มารับคำว่าเห็น)





๓.  วิกตรรถกริยา  คือ คำกริยาที่ไม่มีความหมายในตัวเอง  ใช้ตามลำพังแล้วไม่ได้ความ ต้องมีคำอื่นมาประกอบจึงจะได้ความ คำกริยาพวกนี้คือ  เป็น  เหมือน  คล้าย  เท่า คือ  เช่น
                     เขา"เป็น"นักเรียน                    
                     เขา"คือ"ครูของฉันเอง

๔.  กริยานุเคราะห์  คือ คำกริยาที่ทำหน้าที่ช่วยคำกริยาสำคัญในประโยคให้มีความหมายชัดเจนขึ้น  ได้แก่คำว่า จง  กำลัง  จะ  ย่อม  คง  ยัง  ถูก  นะ  เถอะ  เทอญ ฯลฯ  เช่น     
                    นายดำ"จะ"ไปโรงเรียน                    

             เขา"ถูก"ตี

๕.  กริยาสภาวมาลา  คือ คำกริยาที่ทำหน้าที่เป็นคำนามจะเป็นประธาน  กรรม  หรือบทขยายของประโยคก็ได้ เช่น  
                   
"นอน"หลับเป็นการพักผ่อนที่ดี (นอน เป็นคำกริยาที่เป็นประธานของประโยค)

           
ฉันชอบไป"เที่ยว"กับเธอ (เที่ยว เป็นคำกริยาที่เป็นกรรมของประโยค)



หน้าที่ของคำกริยามีดังนี้คือ

๑. ทำหน้าที่เป็นตัวแสดงในภาคแสดงของประโยค  เช่น
               ขนมวางอยู่บนโต๊ะ                          
               นักเรียนอ่านหนังสือทุกวัน

๒.  ทำหน้าที่ขยายคำนาม เช่น

               วันเดินทางของเขาคือวันพรุ่งนี้ ("เดินทาง"  เป็นคำกริยาที่ไปขยายคำนาม "วัน")

๓.  ทำหน้าที่ขยายกริยา เช่น
               เด็กคนนั้นนั่งดูนก ("ดู" เป็นคำกริยาที่ไปขยายคำกริยา "นั่ง")

๔.  ทำหน้าที่เหมือนคำนาม เช่น
               ออกกำลังกายทุกวันทำให้ร่างกายแข็งแรง ("ออกกำลังกาย"  เป็นคำกริยา ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค)
               เด็กชอบเดินเร็วๆ ("เดิน"  เป็นคำกริยา  ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค)

ที่มา : ศิริพร  ชิดเชือน. ๒๕๕๙. คำกริยา(ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://nkw05174.circlecamp.com/index.php?page=services . ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น