วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ระดับภาษา

ระดับภาษา




การแบ่งภาษาเป็นระดับต่าง ๆ
        การแบ่งภาษาออกเป็นระดับต่าง ๆ อาจแบ่งละเอียดมากหรือน้อยต่างกัน อาจแบ่งออกเป็นเพีบง ๒ ระดับ คือ ระดับที่เป็นแบบแผน และระดับที่ไม่เป็นแบบแผน หรืออาจแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับพิธีการ ระดับกึ่งพิธีการ และระดับไม่เป็นพิธีการ แต่ในที่นี้จะแบ่งให้ละเอียดยิ่งขึ้นเป็น ๕ ระดับ คือ ระดับพิธีการ ระดับทางการ ระดับกึ่งทางการ ระดับไม่เป็นทางการและระดับกันเอง




  ระดับพิธีการ 
       ภาษาระดับนี้ใช้สื่อสารกันในที่ประชุมที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ อาทิ การเปิดประชุมรัฐสภา การกล่าวอวยพร การกล่าวต้อนรับ การกล่าวคำปราศรัย การกล่าวรายงานในพิธีมอบปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตร การกล่าวสดุดีหรือการกล่าวเพื่อจรรโลงใจให้ประจักษ์ในคุณความดี การกล่าวปิดพิธี เป็นต้น 
       ผู้ส่งสารระดับนี้มักเป็นบุคคลสำคัญหรือมีตำแหน่งสูง ผู้รับสารส่วนใหญ่ก็มักอยู่ในวงการเดียวกันกับผู้ส่งสาร หรือเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ซึ่งอาจเป็นประชาชนทั้งประเทศ 
       สัมพันธภาพระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารมีต่อกันอย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่ผู้ส่งสารเป็นผู้กล่าวฝ่ายเดียว ไม่มีการโต้ตอบ ผู้กล่าวมักต้องเตรียมบทหรือวาทนิพนธ์มาล่วงหน้าและมักนำเสนอด้วยการอ่านต่อหน้าที่ประชุม




ภาษาระดับทางการ
       ใช้บรรยายหรืออภิปรายอย่างเป็นทางการในที่ประชุมหรือใช้ในการเขียนข้อความที่ปรากฏต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ หนังสือที่ใช้ติดต่อกับทางราชการหรือในวงธุรกิจ ผู้ส่งสารและผู้รับสารมักเป็นบุคคลในวงอาชีพเดียวกัน ภาษาระดับนี้เป็นการสื่อสารให้ได้ผลตามจุดประสงค์โดยยึดหลักประหยัดคำและเวลาให้มากที่สุด

 ๓. ภาษาระดับกึ่งทางการ 
       คล้ายกับภาษาระดับทางการ แต่ลดความเป็นงานเป็นการลงบ้าง เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารซึ่งเป็นบุคคลในกลุ่มเดียวกัน มีการโต้แย้งหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นระยะๆ มักใช้ในการประชุมกลุ่มหรือการอภิปรายกลุ่ม การบรรยายในชั้นเรียน ข่าว บทความในหนังสือพิมพ์ เนื้อหามักเป็นความรู้ทั่วไป ในการดำเนินชีวิตประจำวัน กิจธุระต่างๆ รวมถึงการปรึกษาหารือร่วมกัน




ภาษาระดับไม่เป็นทางการ 
       ภาษาระดับนี้มักใช้ในการสนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลไม่เกิน ๔-๕ คนในสถานที่และกาละที่ไม่ใช่ส่วนตัว อาจจะเป็นบุคคลที่คุ้นเคยกัน การเขียนจดหมายระหว่างเพื่อน การรายงานข่าวและการเสนอบทความในหนังสือพิมพ์ โดยทั่วไปจะใช้ถ้อยคำสำนวนที่ทำให้รู้สึกคุ้นเคยกันมากกว่าภาษาระดับทางการหรือภาษาที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม เนื้อหาเป็นเรื่องทั่วๆไป ในการดำเนินชีวิตประจำวัน กิจธุระต่างๆรวมถึงการปรึกษาหารือหรือร่วมกัน

ภาษาระดับกันเอง 
       ภาษาระดับนี้มักใช้กันในครอบครัวหรือระหว่างเพื่อนสนิท สถานที่ใช้มักเป็นพื้นที่ส่วนตัว เนื้อหาของสารไม่มีขอบเขตจำกัด มักใช้ในการพูดจากัน ไม่นิยมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรยกเว้นนวนิยายหรือเรื่องสั้นบางตอนที่ต้องการความเป็นจริง (การแบ่งภาษาดังที่กล่าวมาแล้วมิได้หมายความว่าแบ่งกันอย่างเด็ดขาด ภาษาระดับหนึ่งอาจเหลื่อมล้ำกับอีกระดับหนึ่งก็ได้)





อ้างอิง : อโนทัย ศรีภักดิ์. ๒๕๕๙. ระดับของภาษา(ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://sites.google.com/site/khwamruphasathai/home/10-radab-phasa . ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น