นิทานสำหรับเด็กจะเป็นสื่อทางภาษาที่ถ่ายทอดเรื่องราวตามจินตนาการของผู้เขียน ผ่านภาษาและตัวหนังสือที่เรียบเรียงอย่างบรรจงงดงาม การอ่านหนังสือนิทาน เด็กจะมีโอกาสเลือกอ่านตามความสนใจของตนเอง ตรงตามวัตถุประสงค์ของตนเอง จึงแตกต่างจากการอ่านจากตำราหรือแบบฝึกหัด (Textbook) นอกจากนี้หนังสือนิทานไม่มุ่งเน้นการสอนซ่อมเสริมหรือฝึกฝนเด็ก เด็กจึงมีความสุขที่จะเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อที่สนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ที่จะอ่านด้วยทัศนคติที่ดี หนังสือนิทานสำหรับเด็กจะมีลักษณะเด่นเหมาะสมกับการสอนอ่าน เพราะมีภาพที่เชื่อมโยงเรื่องราวกับภาษาที่เป็นสัญ ลักษณ์ให้เด็กเข้าใจความหมายเรื่องราวงานเขียนนั้นๆ การเล่านิทานจะนำเด็กไปสู่การอ่านได้ เพราะเด็กได้รับโอกาสพัฒนาทางภาษาดังนี้คือ
๑. ฝึกการฟัง เด็กจะสามารถจดจำชื่อ ลักษณะ ตัวละคร ความต่อเนื่องของเรื่องราว ที่ทำให้รู้จักคำศัพท์ใหม่ ขณะที่เด็กฟังเรื่องราวจากนิทานจะเกิดอารมณ์คล้อยตาม
๒. ฝึกการพูด เด็กได้ฝึกการพูดคำศัพท์ใหม่ๆ ข้อความบางตอน หรือบทคำคล้องจองง่ายๆจากนิทาน และการให้เด็กมีส่วนร่วมในการเล่า พูดซักถาม วิจารณ์นิทาน ตอบคำถามจากนิทาน หรือหัดเล่าเรื่องที่ตัวเองชอบ
๓. ฝึกการสังเกต ปกติเด็กเล็กๆชอบสงสัย มีคำถามว่า ทำไม อะไร อยู่เสมอ การตอบคำถามจะช่วยให้เด็กเชื่อมโยงเรื่อง ราวต่อไปได้ และสนใจที่จะอ่านสืบค้น
การสอนจากการอ่านนิทานมีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร ???
๑. เด็กจะอ่านจากสิ่งที่มีความหมาย นิทานเป็นสิ่งที่แสดงเรื่องราวของชีวิต ผ่านตัวละครในหนังสือ มีอารมณ์และความ รู้สึกคล้ายคน แม้สิ่งนั้นในชีวิตจริงจะพูดไม่ได้ เช่น สัตว์ พืช สิ่งต่างๆรอบตัว แต่สิ่งเหล่านั้นในโลกจินตนาการของเด็กคือสิ่งเดียวกันกับเด็ก การกระทำในนิทานจึงเป็นสิ่งที่เด็กรับรู้ได้
๒. เด็กจะสนใจฝึกฝนการอ่านยาวนาน การฝึกทักษะใดๆ จะต้องอาศัยเวลา และการกระทำซ้ำๆ เมื่อเด็กสนใจนิทาน การฝึกอ่านผ่านภาพและคำ จึงเป็นสิ่งที่สนุกสนานสำหรับเด็ก
๓. เด็กได้เรียนรู้และเกิดความรู้ลักษณะบูรณาการได้แก่ สาระเกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งของ ตัวเรา บุคคล การอยู่ในสังคมผ่านเรื่องราวที่มีสัญลักษณ์ภาษา คือคำ ประกอบไปพร้อมๆกัน
๔. เด็กได้เรียนรู้ว่า การค้นหาความรู้จะเกิดจากการอ่าน และการอ่านที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตมีในนิทาน
๕. เด็กจะรู้สึกเพลิดเพลินจากเนื้อหาของนิทาน
๖. เด็กจะเกิดสมาธิจากการฟังนิทาน พร้อมๆกับการซึมซับความหมายของตัวหนังสือที่สอดคล้องกับเรื่องราวที่ฟัง
๗. เด็กจะได้รับการขัดเกลาจิตใจด้วยคุณธรรม เข้าใจเรื่องความดีงามจากนิทานไปด้วย คำนามธรรม เช่น ความเมตตา ความรัก ความซื่อสัตย์ ฯลฯ จะเข้าใจง่ายขึ้นเมื่อเด็กฟังนิทาน ล้วนเชื่อมโยงไปสู่การอ่านที่จำรูปคำต่อไป
๘. นิทานทำให้เด็กได้ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ (ผู้เล่า) เด็กจะรู้สึกอบอุ่นและเกิดความมั่นคงทางจิตใจ
๙. เด็กจะเกิดความรู้สึกละเอียดอ่อน มองโลกในแง่ดี เพราะการจบเรื่องของนิทานสำหรับเด็ก จะจบลักษณะการแก้ปัญ หาได้สำเร็จ ทุกปัญหาแก้ได้ จบอย่างมีความสุข
๑๐. เด็กจะได้รับการพัฒนาภาษาด้านอื่นๆไปด้วย นอกเหนือจากการอ่าน เพราะขณะที่อ่านนิทาน เด็กจะได้ฟังเรื่องราว นำเรื่องราวไปถ่ายทอดเป็นภาษาพูดและเขียนต่อไปได้ ด้วยกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
พ่อแม่ ผู้ปกครอง จะสอนลูกอ่านจากนิทานได้อย่างไร ???
พ่อแม่สอนอ่านจากนิทานให้ลูกที่บ้านได้ โดยใช้กระบวนการสอนเช่นเดียวกับครูคือ ฝึกให้ลูกฟังนิทานมาตั้งแต่วัยทารก เช่น บทร้องเล่น บทกลอนสั้นๆ มีเนื้อสนุก จำง่าย พูดหรือท่องตามได้อย่างสนุกสนาน เช่น บทร้องจับปูดำ ขยำปูนา จับปูม้า คว้าปูทะเล ฯลฯ ต่อมาให้เด็กเห็นภาพประกอบการท่องหรือร้องบทกลอนเหล่านั้น พ่อแม่ควรจัดหาหนังสือหลากหลาย ให้เด็กได้เห็นภาษาภาพและตัวหนังสือ เด็กจะเชื่อมโยงเสียงเข้ากับภาพและตัวหนังสือ เมื่ออ่านหนังสือให้ลูกฟัง พ่อแม่ควรได้พูดสนทนากับลูก เรื่องชื่อหนังสือ (จากปก) ชื่อผู้แต่ง ชื่อผู้วาดภาพ (เช่นเดียวกับที่ครูแนะนำหนังสือให้เด็ก) เมื่ออ่านจบควรได้สนทนาเกี่ยวกับสาระของเรื่องที่อ่าน การอ่านมิใช่หยุดเพียงการจบเรื่องไปครั้งหนึ่งๆ แต่จะต้องจัดโอกาสอ่านซ้ำครั้งที่สองและครั้งต่อๆไป การอ่านครั้งที่สอง จะอ่านพร้อมการชี้คำให้เด็กเห็น เพื่อดึงความสนใจของเด็กมาสู่การอ่าน หากมีภาพ คุยเรื่องราวในภาพประกอบได้ เพื่อสร้างความเข้าใจภาษามากขึ้น คำใดที่เด็กต้องการอ่านซ้ำ ก็หยุดอ่านซ้ำได้ สิ่งสำคัญขณะสอนอ่าน ควรมีบรรยากาศของความสุข สร้างความเพลิดเพลินจากการอ่าน ให้เด็กมีความรู้สึกได้ว่า หนังสือคือที่มาของความสุข อ่านได้ อ่านออก เป็นเรื่องไม่ยาก แต่ต้องขยันอ่าน อ่านมาก รู้มาก นอกเหนือจากเวลาที่จัดเพื่อการฟังนิทานและอ่านนิทานแล้ว พ่อแม่หาโอกาสพูดสนทนากับลูกเกี่ยวกับหนังสือนิทานที่น่าสนใจ น่าอ่านในเวลาที่อยู่ร่วมกัน เช่นเวลารับ ประทานอาหาร เวลาไปร้านหนังสือ เวลานั่งพักผ่อนหัวค่ำด้วยกัน พ่อแม่และครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็ก เพราะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก เป็นผู้ที่เด็กให้ความรัก ความไว้วางใจ ส่วนนิทานเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนรักและชอบ ทั้งสองประการนำมาประกอบกันให้เป็นสื่อ สร้างความสนใจในการอ่านแก่เด็กได้เป็นอย่างดี
- ตัวอย่างการอ่านนิทาน
สื่อนิทานส่งเสริมการอ่าน
อ้างอิง : บุบผา เรืองรอง. ๒๕๕๙. สอนอ่านจากนิทาน (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://taamkru.com/th/สอนอ่านจากนิทาน/ . ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น